Workshop 4 บทคัดย่องานวิจัย 3 เรื่อง

 เรื่องที่ 1 ระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของวิทยาลัยการอาชีพหลังสวน

ประสิทธิ์ วัชรินทร์พร. (2563). ระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ของวิทยาลัยการอาชีพหลังสวน. วารสารวิชาการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 1 ปีที่ 5 ฉบับที่ 2  กรกฎาคม-ธันวาคม 2563, หน้า 92-102.

 บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาองค์ประกอบของระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของวิทยาลัยการอาชีพหลังสวน 2) พัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา 3) ประเมินระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา 4) ดำเนินงานตามระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา และ 5) ศึกษาผลการพัฒนาคุณภาพภายในสถานศึกษาของวิทยาลัยการอาชีพหลังสวน กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันคุณภาพการอาชีวศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาที่ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอก รอบ 4 ปี พ.ศ. 2561 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม ค่าสถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (Mean), ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)

ผลการวิจัย พบว่า 1) องค์ประกอบของระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของวิทยาลัยการอาชีพหลังสวน ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 7 องค์ประกอบ ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานการศึกษา การจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษา การดำเนินการตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษา การประเมินผลและตรวจสอบคุณภาพการศึกษา การติดตามผลการดำเนินการ การจัดทำรายงานผลการประเมินตนเองตามมาตรฐานการศึกษา และการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาจากผลการประเมินตนเอง และตามข้อเสนอแนะของหน่วยงานต้นสังกัด 2) ผลการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาประกอบด้วย 44 องค์ประกอบรอง 3) ผลการประเมินระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด 4) ผลการดำเนินงานตามระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาเป็นไปตามองค์ประกอบหลักและองค์ประกอบรองที่พัฒนา และ 5) ผลการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.37 โดยผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของวิทยาลัยการอาชีพหลังสวน อยู่ในระดับคุณภาพยอดเยี่ยมทั้ง 3 มาตรฐาน.

เรื่องที่ รูปแบบปัจจัยองค์การที่ส่งผลต่อการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาของวิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี

ประสิทธิ์  อังกินันทน์. (2559). รูปแบบปัจจัยองค์การที่ส่งผลต่อการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี. วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ปีที่ 39 ฉบับที่ 3  กรกฎาคม - กันยายน 2559, หน้า 55-67.

บทคัดย่อ

การวิจัยรูปแบบปัจจัยองค์การที่ส่งผลต่อการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานีนี้   มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาปัจจัยองค์การที่ส่งผลต่อการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี  2) เพื่อสร้างรูปแบบการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี 3) เพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี 4) เพื่อสำรวจความคิดเห็นของครูและบุคลากรทางการศึกษาต่อการดำเนินการตาม แนวทางการประกันคุณภาพโดยใช้รูปแบบปัจจัยองค์การที่ส่งผลต่อการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี การวิจัยมี 4 ระยะและพบว่า  ระยะที่ 1 ศึกษาปัจจัยองค์การที่ส่งผลต่อการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา แหล่งข้อมูลในการวิจัยได้จากสังเคราะห์ปัจจัยจากหลักการ แนวคิด ทฤษฎีของนักวิชาการ ลักษณะเครื่องมือเป็นแบบสรุปผลการสังเคราะห์ปัจจัยองค์การที่ส่งผลต่อการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาให้ครอบคลุมประเด็นปัจจัย แยกประเภท แบ่งกลุ่ม แล้วลำดับความสำคัญของปัจจัยที่ค้นพบ ได้แก่ปัจจัยด้านลักษณะบุคคล ปัจจัยด้านลักษณะสภาพแวดล้อม ปัจจัยด้านลักษณะองค์การ ปัจจัยด้านนโยบายการบริหารและปฏิบัติงาน ระยะที่ 2 การสร้างรูปแบบการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา โดยการสนทนากลุ่มผู้ร่วมสร้างที่เลือกแบบเจาะจงจากกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดในสถานศึกษา รวม 15 คน จำนวน 3 กลุ่มๆ ละ 5 คน ได้แก่ หัวหน้าแผนกจำนวน   5 คน หัวหน้างาน จำนวน 5 คน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจำนวน 5 คน  ผลที่ได้รับ รูปแบบปัจจัยองค์การที่ส่งผลต่อการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี ฉบับร่าง ระยะที่ 3 พัฒนารูปแบบการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา ผู้ร่วมพัฒนา ได้แก่ กลุ่มผู้ที่เลือกแบบเจาะจงผู้เชี่ยวชาญโดยเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องและมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการประกัน คุณภาพการศึกษารวม 9 คนคือ กรรมการบริหารสถานศึกษาจำนวน 4 คน ตัวแทนกรรมการสถานศึกษาจำนวน5 คน การประชุมกลุ่มโดยใช้แนวคำถามกึ่งโครงร้างเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการบันทึก และจดประเด็น การประชุมการวิเคราะห์เนื้อหา ผลที่ได้รับ รูปแบบปัจจัยองค์การที่ส่งผลต่อการดำเนิน การประกันคุณภาพการศึกษา วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี ฉบับพัฒนา ระยะที่ 4 เพื่อสำรวจความคิดเห็นของครูและบุคลากรทางการศึกษาต่อการดำเนินการตามแนวทางการประกันคุณภาพโดยใช้รูปแบบปัจจัยองค์การที่ส่งผลต่อการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี ประชากรและกลุ่มตัวอย่างคือ กลุ่มครูและบุคคลของวิทยาลัยเทคนิคอุดรธานีจำนวน 237 คน เครื่องมือวิจัยเป็นแบบสอบถามความพึงพอใจแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับของไลเคิร์ทและผ่านการพัฒนาจากผู้เชี่ยวชาญ วิเคราะห์ข้อมูลการหาค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่างข้อคำถามของแบบทดสอบกับจุดประสงค์ โดยใช้สูตรค่าดัชนีความสอดคล้อง มีคะแนนเฉลี่ย 1.00 การเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติในการหาคุณภาพเครื่องมือโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปคอมพิวเตอร์ ผลที่ได้รับ รูปแบบปัจจัยองค์การที่ส่งผลต่อการดำเนิน การประกันคุณภาพการศึกษา วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี ฉบับสมบูรณ์ จึงสามารถสรุปได้ว่า ควรนำผลของการแสดงความคิดเห็นพึงพอใจปัจจัยองค์การที่ส่งผลต่อการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี มาดำเนินการปฏิบัติงานในองค์กรเพื่อการพัฒนาปรับปรุง การดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระดับมาก และมีบางรายข้ออยู่ในระดับมากที่สุด

เรื่องที่ 3 การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมรูปแบบของระบบการประกันคุณภาพภายใน สถานศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

  ผ่องพรรณ จรัสจินดารัตน์, สบสันติ์ อุตกฤษฏ์,ชัยวิชิต เชียรชนะ และ สิริรักษ์ รัชชุศานติ. (2556).  การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมรูปแบบของระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา. วารสารวิชาการพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปีที่ 23 ฉบับที่ 3 กันยายน- ธันวาคม 2556, หน้า 751-759.

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมรูปแบบของระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พบว่ามีรูปแบบประกอบด้วยคณะบุคคลในรูปของคณะกรรมการ 4 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพการศึกษาคณะอนุกรรมการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา และคณะอนุกรรมการประเมินคุณภาพภายใน แต่ละคณะมีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี สำหรับประสิทธิภาพของรูปแบบ มีค่าอยู่ในระดับมากที่สุดมีค่าเฉลี่ย 4.91 การพัฒนาคู่มือการฝึกอบรมได้กำหนดเป็น 5 หน่วย ได้แก่ 1) ระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา2) การพัฒนาคุณภาพการศึกษา 3) การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา 4) การประเมินคุณภาพภายใน และ5) เทคนิคการเป็นวิทยากรและการสร้างสื่อประกอบ พบว่าประสิทธิภาพของคู่มือมีค่า E1/E2 เท่ากับ 90.87/82.66 comการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมรูปแบบของระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา พบว่าหลักสูตรฝึกอบรมมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.63ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.39 การฝึกอบรมและประเมินผู้เข้าอบรมต่อการจัดฝึกอบรมในภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย 4.19 มีผลการเรียนรู้ร้อยละ 85.12 ทักษะการปฏิบัติร้อยละ 92.89 และมีเจตคติต่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาหลังการฝึกอบรมอยู่ในระดับดีมาก มีค่าเฉลี่ย 4.60 และเจตคติก่อนการฝึกอบรมและหลังการฝึกอบรมมีความแตกต่างกัน การประเมินผลด้านพฤติกรรมกับผู้เข้ารับการฝึกอบรม พบว่ามีพฤติกรรมการปฏิบัติงานหลังการฝึกอบรมอยู่ในระดับมากที่สุดมีค่าเฉลี่ย 4.73 และพฤติกรรมการปฏิบัติงานก่อนการฝึกอบรมและหลังการฝึกอบรมมีความแตกต่างกันด้านการปฏิบัติงานพบว่ามีการดำเนินการในทุกเรื่อง

คำสำคัญ: หลักสูตรฝึกอบรม ระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา

 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประวัติ ครูนิตยา เกตุแก้ว